โอวาท ปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ หัวใจของพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือนมาฆะคือเดือน 3 หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมาส เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาท ปาติโมกข์ ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่ 4 มีนาคม

นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตั้งแต่วันเพ็ญ เดือน 6 ได้เริ่มออกสั่งสอน แก่ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ สอนครั้งแรกคือ ไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ จนถึงวันเพ็ญเดือน 3 ของปีถัดมา

มีพระภิกษุที่เป็นพระสาวกขณะนั้นกว่า 1,300 รูป ซึ่งพระสาวกเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ทรงค้นพบไปยังเมืองต่างๆ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน หรือป่าไผ่ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย และถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา

โอวาท ปาติโมกข์

พระสาวก เดินทางมาฟัง โอวาท ปาติโมกข์
ของพระพุทธเจ้า โดยมิได้นัดหมายถึง 1,250 รูป

ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งห่างจากวันที่ตรัสรู้ 9 เดือน พระสาวกเหล่านี้ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมายถึง 1,250 รูป จึงได้กำหนดเรียกวันนี้ว่า วัน จาตุรงคสันนิบาต คือวันประชุมใหญ่ครั้งแรกและเป็นครั้งพิเศษ ด้วยเป็นวันที่ประกอบด้วยองค์ 4 คือ

1 . พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

2. พระสาวกเหล่านี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง

3.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุ อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ธรรมที่เป็นที่สิ้นแห่งอาสวะหรือกิเลสทั้งหลาย

4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดคือ เป็นเวลากลางคืน อากาศไม่ร้อน ท้องฟ้าแจ่มใส … เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม (มาฆปุรณมี) หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส

พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้การมาครั้งนี้ของพุทธสาวกเป็นการประชุมพิเศษในการแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อประกาศหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นแม่บทสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และยังเป็นแม่บทในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

โอวาท ปาติโมกข์

ทรงแสดงในวันนั้น ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ
หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

หลักการ 3 ได้แก่

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจาและใจ
2 .การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง
3 . การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งปวง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนถึงขั้นบรรลุอรหันตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

1. ความอดทน คือการอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน คือ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ คือ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจาและใจ
4. นิพพาน คือ การดับทุกข์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์แปด

วิธีการ 6 ได้แก่

1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือโจมตีใคร
2 . ไม่ทำร้าย คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ คือ ความเคารพระเบียบวินัย กติกา กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม
4 . รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกินพออยู่
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่สงบและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

บทโอวาทปาติโมกข์

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง อาการทั้งปวงคือสัพพะ กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,